วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

[ ข่าวเคมีและเกร็ดความรู้9 ]

ชื่อและอักษรย่อในใบกำกับสารเคมีเกษตรหมายถึงอะไร?


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ฉลากสารเคมีเกษตร


        เมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อสารเคมีทางการเกษตร เช่น สารกำจัดเมลง สารกำจัดโรคพืช หรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (ฮอร์โมนพืช) ซึ่งมีขายมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด บางครั้งก็มีชื่อยี่ห้อคล้ายกันบ้างต่างกันบ้าง ทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะกับใบกำกับที่ติดมากับสารเคมีนั้น ซึ่งมีชื่อและอักษรย่อต่างกันไป ชื่อและอักษรย่อบนใบกำกับมีความหมายดังนี้
ชื่อการค้า (Trade name) เป็นชื่อที่บริษัทผู้ขายสารเคมีตั้งขึ้นและจดทะเบียนใช้เป็นชื่อการค้าของ บริษัทนั้น การตั้งชื่อการค้ามักตั้งชื่อเพื่อให้เกิดความน่าสนใจในตัวสินค้า บางครั้งก็ใช้ชื่อบริษัทร่วมกับชื่อที่แสดงความหมายว่าเป็นชื่อสารเคมีเกษตรนั้นหรือชื่อสามัญของสารนั้น  บางครั้งก็ใช้ชื่อแสดงสรรพคุณของสารนั้น นอกจากนี้ยังอาจมีหลายบริษัทที่ผลิตสารเคมีชนิดเดียวกันแต่มีชื่อทางการค้า ต่างกัน

        ชื่อสามัญ (Common name) เป็นชื่อสารเคมีเกษตรซึ่งทางวิชาการถือว่าเป็นชื่อกลางๆ และใช้กันทั่วไป เช่น แคปแทน (Captan) พาราไธออน (Parathion) มาลาไธออน (Malathion) เป็นต้น ดังนั้นการเลือกซื้อสารเคมีเกษตรจึงควรรู้จักชื่อสามัญของสารนั้น
        ชื่อผูกขึ้น (Code name) ผูกขึ้นจากชื่อเรียกตามภาษาทางเคมี ซึ่งมักเป็นชื่อที่ยืดยาว การผูกชื่อมักจะใช้อักษรหน้าของคำมาผูกใหม่สั้นๆ เมื่อเรียกนานๆ ไปก็เคยชินจนเป็นที่ทราบกันดี เช่น ดีดีที ย่อมาจากคำ Di-phynyl Di-ethyl Tri-chloroethane ซึ่งเป็นอินทรีย์เคมีสาร
        ชื่อสารออกฤทธิ์ (Active ingredient หรือ a.i.) หมายถึง เนื้อสารจริงๆ ที่จะแสดงผลต่อพืชได้ตามคุณสมบัติที่สารนั้นมีอยู่ มักจะบอกเป็นความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ในสารผสมทั้งหมด เช่น เปอร์เซ็นต์ของสารออกฤทธิ์ในสารผสมทั้งหมด หรือแสดงหน่วยน้ำหนักต่อปริมาตร บางบริษัทอาจใช้คำว่า สารสำคัญ แทนคำว่า สารออกฤทธิ์ บางครั้งก็ใช้ชื่อสารเคมี

     สภาวะของสารเคมี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรศึกษาและพิจารณา สารเคมีอาจผลิตออกจำหน่ายในสภาวะต่างๆ กัน โดยเหตุผลที่ต่างกันไป บางทีก็ใช้อักษรย่อหรือคำเต็มแสดงสภาวะของสารเคมีเหล่านั้นติดไว้ที่ฉลากของภาชนะ ซึ่งมีความหมาย ดังนี้

คำย่อ WSC
คำเต็ม Water Soluble Concentrate สารละลายเข้มข้น 
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปสารละลายใส เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารละลายใสเช่นกัน

คำย่อ EC
คำเต็ม Emulsifiable Concentrate สารละลายน้ำมัน
สภาวะ สารละลายบางชนิดละลายได้ดีในน้ำมัน จึงต้องเตรียมอยู่ในรูปน้ำมัน แต่สารที่อยู่ในรูปน้ำมันนี้เมื่อนำไปผสมกับน้ำจะไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ทางผู้ผลิตจึงผสมสารที่ช่วยให้น้ำมันกับน้ำรวมตัวกันได้ดีขึ้นและไม่แยกชั้น เรียกสารนี้ว่า Emulsifier ผลิตภัณฑ์ในรูปนี้เมื่อผสมกับน้ำจะได้สารผสมที่มีลักษณะขุ่นเหมือนน้ำนม แต่ไม่ตกตะกอนหรือแยกชั้น

คำย่อ SC
คำเต็ม Suspension Concentrate สารแขวนลอยเข้มข้น
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำ เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารผสมซึ่งขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำเช่นกัน

คำย่อ WSP
คำเต็ม Water Soluble Power ผงละลายน้ำ
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารละลายใสไม่ตกตะกอน

คำย่อ WP
คำเต็ม Wetable Power ผงเปียกน้ำ
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารแขวนลอยลักษณะขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำ ผลิตภัณฑ์ในรูปนี้มักมีส่วนผสมของสารที่มีคุณสมบัติผลักดันอนุภาคของแข็งชนิดเดียวกันให้แยกออกจากกัน ทำให้อนุภาคเล็กๆ เหล่านี้แขวนลอยอยู่ได้นานโดยไม่ตกตะกอน เรียกสารชนิดนี้ว่า Dispersants

คำย่อ 
คำเต็ม Dust ผง
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เตรียมขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ไม่ต้องผสมน้ำหรือสารใดๆ อีก

คำย่อ G
คำเต็ม Granule เม็ด
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมเป็นเม็ดเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง หรือละลายน้ำก่อนนำไปใช้

คำย่อ P
คำเต็ม Paste ครีม
สภาวะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของสารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เตรียมขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง โดยการทาหรือป้ายในบริเวณที่ต้องการ

คำย่อ F
คำเต็ม Fumigant รมควัน
สภาวะ อาจเป็นผงหรือนำมาอัดเป็นเม็ดหรือเป็นน้ำ แต่เมื่อจะใช้งานนำมาทำให้เป็นควัน ใช้รม

คำย่อ A
คำเต็ม Aerosol ละออง
สภาวะ เตรียมอยู่ในภาชนะที่มีแรงอัดอยู่ภายใน เมื่อพ่นจะกระจายออกมาเป็นหมอกละออง หรือที่มักเรียกกันว่าสเปรย์

          สารเคมีที่มีสภาวะต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตมีความประสงค์ที่จะทำให้สารเคมีมีสภาวะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประโยชน์ในการใช้โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ให้ถูกต้อง เพื่อให้สารเคมีเหล่านั้นอำนวยประโยชน์ตามความมุ่งหมายได้อย่างเต็มที่

          ความเข้มข้นของสารเคมี สารเคมีเกษตรที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วๆ ไปประกอบขึ้นด้วยเนื้อสารเคมีซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์และสารอื่นๆ ที่ใส่เป็นสารผสม เพื่อให้มีความเข้มข้นตามประสงค์ บางทีอาจพบว่ามีสารเคมีที่ใช้ชื่อทางการค้าต่างกัน เมื่ออ่านดูจะพบว่าเป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน แต่มีความเข้มข้นหรือเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์สูงต่ำต่างกัน เช่น 25 เปอร์เซ็นต์ ย่อมมีเนื้อสารออกฤทธิ์สูงเป็น 5 เท่าของ 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ดังนั้นการใช้สารเคมีเกษตรจะใช้มากน้อยเท่าใด หรือมีความเข้มข้นแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเนื้อสารออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในสารเคมีนั้น ส่วนการพิจารณาเปรียบเทียบราคาก่อนตกลงซื้อ ก็ควรจะเปรียบเทียบจากความเข้มข้นที่ต่างกันด้วย โดยคิดว่า ถ้าหากเนื้อสารออกฤทธิ์ที่แท้จริงอยู่ในสารเคมีปริมาณเท่าๆ กันแล้ว ชนิดไหนถูกแพงกว่ากัน การบอกความเข้มข้นของสารเคมีเกษตร มีดังนี้
เปอร์เซ็นต์ %
       จำนวนส่วนใน 100 ส่วน เช่น NAA 5% หมายความว่าในสารละลาย 100 ส่วน จะมี NAA อยู่ 5 ส่วน




โมล่าร์ Molar
        ปริมาณกรัมโมเลกุลของสารในสารละลาย 1 ลิตร เช่น IAA มีความเข้มข้น 1 โมล่าร์ หมายความว่า ในสารละลาย 1 ลิตร จะมี IAA อยู่ 1 กรัม โมเลกุล ซึ่ง IAA มีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 175.2 กรัมต่อโมล



น้ำหนักต่อปริมาตร weigth per volume , w/v
        น้ำหนักของเนื้อสารในสารผสมหนึ่งปริมาตร เช่น 1 กรัมต่อลิตร หมายความว่ามีเนื้อสารอยู่ 1 กรัม ในสารละลาย 1 ลิตร

น้ำหนักต่อน้ำหนัก weigth per volume , w/w
        น้ำหนักของเนื้อสารในสารผสมหนึ่งน้ำหนัก เช่น 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หมายความว่ามีเนื้อสารอยู่ 1 มิลลิกรัม ในสารผสม 1 กิโลกรัม


ส่วนต่อล้านส่วน part per
        จำนวนส่วนของเนื้อสารในสารละลาย 1 ล้านส่วน เช่น SADH 1,000 ppm หมายถึงสารละลาย 1 ล้านส่วน มี SADH 1,000 ส่วน

แหล่งที่มา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น